ผู้ว่าฯ ชลบุรี ตรวจแผงชำแหละหมู และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการหมูพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน ป้องกัน และแก้ไขปัญหาเนื้อหมูมีราคาสูง

27 มกราคม 2565

วันศุกร์ที่ 21 มกราคม 2565  นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อม ปลัดจังหวัดชลบุรี พาณิชย์จังหวัดชลบุรี ปศุสัตว์จังหวัดชลบุรี นายอำเภอชลบุรี ประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ ลงพื้นที่ตลาดใหม่ชลบุรี สำรวจการกักตุนเนื้อหมู ซึ่งเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2497 รวมทั้งราคาหมูชนิดต่างๆ จากสถานการณ์ที่เนื้อหมูมีราคาสูงขึ้น โดยได้สอบถาม และพูดคุยกับทางร้านค้า และประชาชน ถึงราคาหมูในปัจจุบัน พบว่ามีราคาสูงขึ้นจริง ส่งผลให้ร้านค้า และประชาชนได้รับผลกระทบ โดยผู้ว่าฯ ชลบุรี ได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้น และกำชับให้ร้านค้าแสดงราคาอย่างชัดเจน พร้อมป้องกันการกักตุนเนื้อหมูในช่วงสถานการณ์นี้ด้วย 

ทั้งนี้ ยังได้ลงพื้นที่ไปยังร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการหมูพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน ซึ่งจำหน่ายหมูเนื้อแดงในราคากิโลกรัมละ 150 บาท ตามที่พาณิชย์จังหวัดชลบุรี ได้ร่วมมือกับร้านค้า ตรึงราคาเนื้อหมู ช่วยเหลือประชาชน พบว่ามีปริมาณเนื้อหมูที่เพียงพอในการขายแต่ละวัน โดยในจังหวัดชลบุรี มี 6 ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ จำหน่ายตั้งแต่วันที่ 19 ถึง 31 ม.ค.2565

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้กระทรวงมหาดไทย ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยจังหวัดชลบุรีได้ดำเนินการ ดังนี้
1. ตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวัง และควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) โดยมอบหมายปศุสัตว์จังหวัดเป็นเลขานุการ
2. เร่งสำรวจข้อมูลฟาร์มสุกร / จำนวนสุกร / ผู้เลี้ยงสุกร ทั้งรายย่อย และรายใหญ่ ที่ได้รับความเสียหายจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ให้ถูกต้องครบถ้วนเป็นปัจจุบัน รวมทั้งเตรียมการเยียวยาตามระเบียบของทางราชการที่เกี่ยวข้อง
3. กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เฝ้าระวังควบคุม กำกับการเคลื่อนย้ายสุกร และซาก ให้เป็นไปตามมาตรการที่กรมปศุสัตว์จังหวัดกำหนดอย่างเคร่งครัด
4. มอบหมายสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง สำรวจ ตรวจตราการกักตุนเนื้อสุกร กำกับดูแลร้านจำหน่ายเนื้อสุกรชำแหละ โดยติดป้ายราคาสินค้าให้ชัดเจน
5. แจ้งนายอำเภอทุกอำเภอ กำชับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายประชาชนในพื้นที่ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพบสุกรป่วย หรือ ตายผิดปกติ ให้แจ้งอาสาปศุสัตว์ประจำหมู่บ้าน หรือ ปศุสัตว์อำเภอทันที
6. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งเฝ้าระวัง และแจ้งเหตุผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชลบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 1567

ที่มา: สนง.ประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี