รอง ผวจ.ชล ร่วมประชุมคณะกรรมการการบริหารการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กบอ)

13 พฤศจิกายน 2563

วันที่ 12 พ.ย 2563 นายธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการการบริหารการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม ณ ห้องบัญชาการยุทธศาสตร์ ชั้น 25 อาคาร บี กระทรวงพลังงาน โดยการประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมครั้งที่ 4/2563 มีประเด็นสำคัญในการประชุมหารือ ประกอบด้วย ความก้าวหน้าแผนพัฒนา EEC โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ความก้าวหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นโครงการสะพานไทยเพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมโยงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกับภาคใต้ตอนบนผ่านอ่าวไทย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาในประเด็นการขับเคลื่อน และเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกแบบไร้รอยต่อ การขยายระยะเวลามาตรการภาษีสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจภายใต้การบริหารงานของ กบอ. อีกด้วย

ที่มา: สนง.ประชาสัมพันธ์จังหวัดชลบุรี
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เร่งแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC พร้อมทำได้ทันที 

การประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 4/2563 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ณ ห้องบัญชาการยุทธศาสตร์ ชั้น 25 กระทรวงพลังงาน ได้รับทราบ และพิจารณาความก้าวหน้าแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC

ที่ประชุม กบอ. รับทราบ ความก้าวหน้าแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป้าหมายเพื่อยกระดับภาคเกษตร ใช้เทคโนโลยีให้ผลการผลิตสูงขึ้น เข้าถึงตลาดเพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มรายได้เกษตรกร เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรม และบริการ เร่งแผนพัฒนาการเกษตร ในพื้นที่ EEC พร้อมทำได้ทันที ดังนี้

1) ใช้ความต้องการตลาดนำ (Demand Pull) เน้นเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเกษตร และอาหาร พัฒนาสินค้าใหม่ สร้างความต้องการเพิ่มขึ้น 
2) ใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้ (Technology Push) ยกระดับตลาด การแปรรูป กำหนดสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ และโอกาสสูง ให้ตรงความต้องการผู้บริโภคอย่างแท้จริง สร้างรายได้ให้เกษตรอย่างยั่งยืน
3) ให้ความสำคัญ 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ ผลไม้ เน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าเข้าถึงตลาด เพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มรายได้เกษตรกร ประมงเพาะเลี้ยง เพิ่มมูลค่า ส่งเสริมแบบ Smart Farm สร้างอุตสาหกรรมอาหาร พืชชีวภาพ เชื่อมโยงความต้องการวัตถุดิบ สร้างมูลค่าเพิ่ม พืชสมุนไพร เชื่อมโยงความต้องการอุตสาหกรรมอาหาร ยา เครื่องสำอาง ปศุสัตว์ แปรรูปเนื้อโคคุณภาพสูง ยกระดับการผลิต และเพิ่มมูลค่า เพิ่มรายได้เกษตรกร เช่น จัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก พัฒนาความรู้ด้าน e-commerce ให้กับเกษตรกร พัฒนาเวชสำอางจากผลิตผลการเกษตร และพัฒนาการปลูกผักอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นต้น

สำหรับความก้าวหน้าการพัฒนาโครงข่าย 5G ในพื้นที่ EEC สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เดินหน้าให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมรองรับ 5G ใน EEC เต็มรูปแบบ พร้อมเริ่มก่อสร้างทันที คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 3 เดือน เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกเข้ามาร่วมลงทุนใน EEC เริ่มพื้นที่นำร่อง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยได้เตรียมบุคลากรด้านดิจิทัลรองรับ จำนวน 100,000 คน เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลสู่ระดับชุมชน สร้างงาน สร้างโอกาส สร้างรายได้ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ EEC

สกพอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมขับเคลื่อนแผนบูรณาการ EEC ปี 2565 อย่างต่อเนื่อง ผ่านกระบวนการความร่วมมือจากส่วนกลาง และท้องถิ่น โดยมีผู้แทน 18 กระทรวง 103 หน่วยงาน ภารกิจขับเคลื่อน 5 แนวทาง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค ส่งเสริมการท่องเที่ยว พัฒนาบุคลากรการศึกษา งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน รองรับการขยายตัวของเมือง และการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ กระตุ้นการจ้างงาน สร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน ทั้งนี้ งบบูรณาการปี 2564 วางเป้าหมายให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ EEC ไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท โดยสกพอ. ใช้งบบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพประมาณ 2 หมื่นล้านบาท หรือเพียง 20 % ของงบประมาณรัฐ ที่เหลือเป็นเงินลงทุนจากเอกชน คาดว่าปี 2565 จะเกิดการลงทุนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น

ที่มา:สถานีวิทยุแห่งประเทศไทย (สวท) ชลบุรี