คำสั่งทางการปกครองในการแก้ไขปัญหาจังหวัด

3 กันยายน 2562

การดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี
และการใช้คำสั่งทางการปกครองเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของจังหวัด

1. โครงการร่วมใจสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวและประชาชนในเขตเมืองพัทยา  
จัดตั้งโครงการร่วมใจระหว่างทหารบก  ทหารเรือ  ตำรวจ  สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน  ร่วมกันออกตรวจและรักษาความสงบในเขตพื้นที่เมืองพัทยา  จำนวน  2  รุ่น  โดยดำเนินการจัดชุดสายตรวจ จากเดิม 8 สาย เป็น 16 สาย แบ่งเป็น 3 กะ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้รถจักรยานยนต์และเดินเท้า สร้างความมั่นใจและให้ความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว บริเวณและโดยรอบเขตเมืองพัทยา  ซึ่งได้รับการสนับสนุนค่าเบี้ยเลี้ยง  ค่าเช่ารถจักรยานยนต์  และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากเมืองพัทยา จำนวน  2,132,000  บาท  ในการนี้ได้สนับสนุน เบี้ยเลี้ยงให้กับเจ้าหน้าที่ด้วย
นอกจากนี้ อำเภอบางละมุงได้ประสานขอความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนในเขตเมืองพัทยาจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ประสบภัยอาชญากรรมในเขตเมืองพัทยา  โดยจัดตั้งคณะกรรมการในการบริหารกองทุนจำนวน  15  คน  มีนายอำเภอบางละมุงเป็นประธานคณะกรรมการ ขณะนี้ได้รับบริจาคเงินเข้าสมทบกองทุนจากภาคเอกชนในเขตเมืองพัทยา  รวมทั้งสิ้น  1,108,500  บาท

2. โครงการบูรณาการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เพื่อจัดทำโครงการตามแผนงานยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขจังหวัด ปี 2551 
จังหวัดจึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัด จำนวน 99 แห่ง โดยจัดสรรจากงบลงทุนร้อยละ 4 เป็นเงินงบประมาณรวม 126 ล้านบาท เพื่อมาจัดทำโครงการตามแผนงานยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุขจังหวัดปี 2551  ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามกรอบ แผนงาน 5 ด้านของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล

3. โครงการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ยากไร้  จังหวัดชลบุรี
เพื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนของกระทรวงมหาดไทย ตอบสนองนโยบายด้านสังคม และเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยปรับปรุง  ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ยากไร้และผู้สูงอายุให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองอย่างมั่นคงและดำรงชีวิตอย่างมีความสุข 
ในการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเหล่ากาชาดจังหวัดชลบุรี  และเงินบริจาคของภาคเอกชน  จำนวน  1,000,000  บาท และจังหวัดได้สนับสนุนงบประมาณจากงบประมาณรายจ่าย รายการค่าใช้จ่ายในการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ  จำนวน 1,860,420 ล้านบาท โดยให้อำเภอ / กิ่งอำเภอทำการสำรวจครัวเรือนผู้ยากไร้และผู้สูงอายุซึ่งมีที่อยู่อาศัยที่สภาพทรุดโทรม  และดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมให้มีสภาพที่มั่นคงแข็งแรง  โดยมีเป้าหมายดำเนินการไม่น้อยกว่า 200 หลัง (หลังละประมาณ 5,000 – 30,000 บาท ตามสภาพปัญหา) จากการดำเนินการนี้ ผลที่ได้รับ คือ ประชากรผู้ยากไร้โดยเฉพาะผู้สูงอายุได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ปลอดภัยและดำรงชีวิตอย่างมีความสุขและภาคภูมิใจ

4. โครงการพัฒนาส่งเสริมคุณธรรม  จริยธรรม  และธรรมาภิบาลข้าราชการ  นักเรียน  นักศึกษาและประชาชน  
จังหวัดจึงได้จัดทำห้องเจริญธรรม  ประจำศาลากลางจังหวัดชลบุรี ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุให้พุทธศาสนิกชนกราบไหว้บูชา  และใช้เป็นห้องปฏิบัติธรรมและฟังธรรมะจากพระสงค์สมณะศักดิ์  ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน  เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสภาพจิตใจ จนถึงปัจจุบันมีพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมโครงการแล้ว 4,699 คน
 
5. จัดระเบียบธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งข้ามชาติ
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการร้านค้าขนาดเล็ก (โชห่วย) จากการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งข้ามชาติที่ได้มาเปิดและกำลังจะเปิดดำเนินการอีกเป็นจำนวนมาก จังหวัดชลบุรีได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ในทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์ในการวางและทำผังเมืองรวมในท้องที่จังหวัดชลบุรี สาระสำคัญ คือการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อก่อสร้างดัดแปลงใช้หรือเปลี่ยนแปลงการใช้เป็นอาคารพาณิชยกรรมค้าปลีกส่งในเขตพื้นของจังหวัดชลบุรี รวมทั้งหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์พื้นที่ถือได้ว่าเป็นการจัดระเบียบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งข้ามชาติขนาดใหญ่ ไม่ให้ตั้งในเมือง เพื่อเป็นการผดุงรักษาร้านค้าโชห่วยไว้ไม่ให้หายไปจากสังคมไทย ร้านค้าขนาดเล็กจะได้มีช่องทางทำมาหากิน และให้ความเจริญไปถึงชานเมืองชนบทอย่างแท้จริง

6. การถ่ายโอนสถานศึกษาไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ด้วยจังหวัดชลบุรี มีนโยบายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยมุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความสามารถและคุณธรรม เพื่อให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพของประเทศชาติ รวมทั้งพิจารณาเห็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรีมีศักยภาพในการบริหารจัดการ สถานศึกษา โดยเฉพาะด้านงบประมาณบุคลากร และสื่ออุปกรณ์การเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี จึงเห็นสมควรให้มีการถ่ายโอนสถานศึกษาไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะสถานศึกษาในถิ่นทุรกันดารห่างไกลความเจริญ จังหวัดชลบุรีจึงมอบหมายให้อำเภอ/กิ่งอำเภอ สำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร คณะครูและคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชน  ปรากฏว่ามีสถานศึกษาที่มีความประสงค์จะขอถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 23 แห่ง

7. การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการปฏิบัติราชการ
จังหวัดชลบุรีจึงได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการปฏิบัติราชการไม่ว่าการนำระบบการใช้งานทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการประสานข้อราชการและทางธุรการรับ-ส่งหนังสือโดยได้กำหนด E-mail Address ให้ส่วนราชการและกำหนดให้ทุกส่วนราชการจัดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบตรวจสอบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) ทุกวันทำการวันละ 3 เวลา คือ เวลา 08.30 น. 13.00 น. และ 16.30 น. ตลอดจนจัดทำระบบร้องเรียน/ร้องทุกข์ และข้อมูลข่าวสารผ่านทางเว็บไซต์ จังหวัดชลบุรี (www.chonburi.go.th) และกำชับให้ทุกส่วนราชการเข้าตรวจสอบการร้องเรียน/ร้องทุกข์ด้วยตัวเองทุกวัน ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับหน่วยงานใด หน่วยงานนั้นทำการชี้แจงและนำไปแก้ไข

8. การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในครัวเรือน  
เนื่องจากสภาพทางกายภาพของจังหวัดชลบุรีไม่มีแม่น้ำลำคลองเป็นแหล่งน้ำต้นทุน  อาศัยเพียงน้ำฝนที่กักเก็บไว้ตามอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เช่น อ่างเก็บน้ำบางพระ และอ่างเก็บน้ำอำเภอต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งมีอยู่น้อย  รวมแล้วไม่เกิน 200 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการการใช้น้ำของประชาชน  ยิ่งไปกว่านั้นทุกครัวเรือน ต่างหวังพึ่งพาระบบน้ำประปา  โดยไม่สนใจรองรับน้ำฝน  กักเก็บน้ำครัวเรือนในบ่อซีเมนต์หรือภาชนะใส่น้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีจึงออกคำสั่งทางปกครอง  โดยมีประกาศจังหวัดชลบุรี  กำหนดหลักเกณฑ์การขอ-อนุญาตสิ่งปลูกสร้างอาคาร ที่อยู่อาศัย  อพาร์ทเมนท์  และบ้านจัดสรรให้หน่วยงานปกครองท้องถิ่นทุกระดับ   ผู้มีหน้าที่อนุญาตสิ่งปลูกสร้างอาคารถือปฏิบัติโดยสิ่งก่อสร้างดังกล่าวจะต้องมีแหล่งกักเก็บน้ำภายในจึงจะอนุญาตการก่อสร้างได้

9. การจัดระเบียบการบุกรุกที่ป่าเขา
จังหวัดชลบุรีได้กำหนดให้มีการจัดระเบียบการบุกรุกที่เขาในเขตอุทยานแห่งชาติ, เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า,  เขตต้นน้ำลำธารและเขตป่าสงวนแห่งชาติ  ดังนี้
        1. ถ้าหากราษฎรหรือนายทุนผู้มีอิทธิพลบุกรุกป่าให้ดำเนินคดีโดยเด็ดขาด  เว้นแต่อยู่อาศัยมาก่อนประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ  ก็ให้ทำการพิสูจน์สิทธิ์ตามมติ ค.ร.ม. เมื่อวันที่  30  มิถุนายน  2541  ถ้าหากว่าพิสูจน์แล้วอยู่มาก่อนประกาศเขตป่าและได้ทำประโยชน์ต่อเนื่อง  ก็ให้มีสิทธิ์ที่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้
        2. ถ้าหากราษฎรอาศัยอยู่หลังการประกาศเขตป่า  ถ้าหากเป็นพื้นที่โซน  A และโซน E  ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะขออนุญาตเช่าตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ  พ.ศ.2507  ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของรัฐมนตรี  แต่ถ้าหากเป็นป่าต้นน้ำลำธาร, ที่สวนป่า, ที่ลาดชันภูเขาสูง  จะไม่อนุญาตให้อยู่อาศัย
        3. ถ้าหากราษฎรอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่โซน C หรือพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่อนุญาตให้อยู่หรือมีการจำหน่ายจ่ายโอนสิทธิ์ที่ดินให้กับบุคคลอื่นหากฝ่าฝืนก็ให้ดำเนินการตามระเบียบและกฎหมาย  เว้นแต่อยู่ในเขตโครงการของรัฐ  ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี

10. จัดระเบียบประมงชายฝั่งป่าชายเลน
จังหวัดชลบุรี ได้ตั้งคณะกรรมการจัดระเบียบแปลงเลี้ยงหอยแครง ในเขตพื้นที่ชายเลน ตำบลคลองตำหรุ ตำบลบางทราย ตำบลเสม็ด และตำบลอ่างศิลาบางส่วน ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเป็นธรรมแก่ประชาชน ผู้ประกอบการอาชีพประมงชายฝั่งทุกประเภทได้ประกอบอาชีพอย่างเท่าเทียมกัน ได้กำหนดมาตรการทางปฏิบัติดังนี้

       1.  สำรวจแปลงเลี้ยงหอยทุกแปลงว่าเป็นของผู้ใดมีพื้นที่เท่าใด ได้รับอนุญาตถูกต้องหรือไม่
       2.  จัดประชุมผู้เลี้ยงและเจ้าของแปลงหอยทุกราย ทั้งจัดประชุมที่อำเภอและร่วมกับจังหวัดชี้แจงถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความเหมาะสมของการจัดแปลงหอย การเว้นช่องว่างให้เรือประมง สามารถเข้าออกฝั่งได้ โดยทุกแปลงจะต้องเว้นร่องเดินเรือไว้ประมาณ 40 เมตร และทุกแปลงจะต้องอยู่ห่างชายฝั่งประมาณ 1 กม. ยกเว้นในพื้นที่ ซึ่งชายเลนยาวไม่ถึง 1 กม. ก็ให้จัดแปลงเลี้ยงห่างจากฝั่งได้ในระยะประมาณ 400 ม. ขึ้นไปตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ เพื่อกันพื้นที่ให้ประชาชนในพื้นที่ซึ่งไม่สามารถมีเงินทุนเลี้ยงหอยแครง สามารถจับหอยแครงเพื่อการเลี้ยงชีพได้
       3.  จัดระเบียบแปลงเลี้ยงใหม่ โดยจะกำหนดพื้นที่แปลงเลี้ยงหอยไว้ว่าแต่ละครอบครัวจะมีพื้นที่เลี้ยงหอยแครงประมาณครอบครัวกี่ไร่ (ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดร่วมกับผู้เลี้ยงหอยทุกราย) และจะอนุญาตให้เลี้ยงหอยในแต่ละแปลงโดยวิธีจับสลากและห้ามการซื้อขายสิทธิ์ให้แก่ผู้อื่น
       4.  ขณะนี้อยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่ซึ่งประกอบด้วยประมงอำเภอ ปลัดอำเภอ งานป้องกัน  ปลัดเทศบาลและปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   ตัวแทนผู้ประกอบการเลี้ยงหอย ตัวแทนผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงหอย ตัวแทนผู้ประกอบอาชีพเรือประมง ร่วมกันออกสำรวจพื้นที่เลี้ยงหอยจริง เพื่อจัดทำแผนที่แปลงหอยโดยใช้ระบบ GIS เมื่อแล้วเสร็จจะจัดประชุมผู้เลี้ยงหอยร่วมกับภาคราชการ และกลุ่มอาชีพเลี้ยงหอย และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง

11. การแก้ไขปัญหาการบุกรุกรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว เขาชมภู่  และเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาเขียว-เขาชมภู่   อำเภอเมืองชลบุรี
ในเขตอำเภอเมืองชลบุรี มีพื้นที่และมีราษฎรถือครองที่ดินทับซ้อน รอยต่อระหว่างชุมชนกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่  และเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาเขียว-เขาชมภู่ อยู่ในเขตพื้นที่ตำบลหนองรี หนองข้างคอก และ ต.เหมือง ซึ่งได้ทำการบินสำรวจพื้นที่แล้ว จึงกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้

       1.  เรียกเอกสารถือครองสิทธิ์ เช่น สค.1,นส.3ก. หรือใบแจ้ง (เว้นเอกสารแสดงการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ภบท.5 ) ในพื้นที่ทับซ้อนมาแสดงเพื่อพิสูจน์การได้มา และการใช้ทำประโยชน์ ซึ่งขณะนี้มีมีผู้นำเอกสารมาแสดงแล้ว จำนวน 150 แปลง
       2.  ตั้งคณะกรรมการพิสูจน์การได้มาอย่างถูกต้องหรือไม่ เพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินใหม่ (Reshape) เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ประกอบด้วย ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง ตัวแทนสำนักงานสงวนพันธุ์สัตว์ป่า ตัวแทนสำนักงานป่าสงวนฯ ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้อง
       3.  ขณะนี้อยู่ระหว่างการเดินสำรวจร่วมกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสำรวจพื้นที่จริงในการพิสูจน์สิทธิ์ของราษฎร
       4. เมื่อรวบรวมข้อมูลเรียบร้อยแล้ว จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ทุกระดับทั้งระดับตำบล ระดับอำเภอ เพื่อกลั่นกรองก่อนเข้าสู่คณะกรรมการระดับจังหวัดต่อไป

12. การจัดระเบียบครัวเรือนที่รุกล้ำเขตป่าชายเลน และพื้นที่ชายเลนในเขตอำเภอเมืองชลบุรี
ด้วยได้มีราษฎรรุกล้ำที่ชายเลนในเขตตำบลบางทราย อำเภอเมืองชลบุรี เป็นจำนวนมาก นายอำเภอเมืองชลบุรี ได้บินสำรวจ และคัดภาพถ่ายทางอากาศ โดยเรียงลำดับ เวลา รายปี เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการรุกล้ำพื้นที่ชายเลน โดยการสร้างสิ่งปลูกสร้างอย่างถาวรล่วงล้ำลงไปในทะเลเป็นบริเวณกว้าง จึงได้คณะทำงานประกอบด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง  ตัวแทนภาคประชาชนเดินสำรวจอย่างจริงจัง เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงทั้งหมด และนำมาวางมารตรการเป็นแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหา  ดังนี้

       1.  สำรวจจำนวนครัวเรือนที่สร้างสิ่งปลูกสร้างถาวรรุกล้ำ ลงไปในเขตชายเลน รวมทั้งสำรวจเอกสารสิทธิ์ว่ามีเอกสารสิทธิ์ชนิดใด ซึ่งการสำรวจเบื้องต้น พบว่ามีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลงไปในชายเลน จำนวนกว่า 600 ครัวเรือน ซึ่งการรุกล้ำดังกล่าวส่วนหนึ่งรุกล้ำมาหลายสิบปี
       2.  ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ ว่าทางราชการไม่มีความประสงค์จะรื้อถอน หรือไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ แต่จะมาจัดระเบียบให้สามารถอยู่อาศัยได้อย่างมีหลักฐาน เช่น อาจเป็นการเช่าจากหน่วยงานมีการรับผิดชอบในราคาที่เป็นธรรมเป็นต้น
       3.  ให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบ เช่น อำเภอ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หารือแนวทางการจัดพื้นที่ให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน ได้เช่าในราคาที่เป็นธรรม
       4.  ไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้าง หรือรุกล้ำเพิ่มเติมจากที่ได้สำรวจไว้ ทั้งจากด้านเอกสาร และทางภาพถ่าย ซึ่งอำเภอได้ถ่ายภาพไว้ทั้งหมดแล้ว
       5.  จัดประชุมร่วมระหว่างประชาชนผู้มีส่วนได้เสียภาคราชการที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชนเพื่อหาแนวทางในการจัดการให้ผู้ที่ปลูกสร้างอยู่แล้วได้ปลูกป่าชายเลน ในพื้นที่ว่างและแนวรอยต่อระหว่างบ้านเรือนและทะเล เพื่อเป็นแนวกั้นการรุกล้ำ ร่วมทั้งให้ปลูกป่าในพื้นที่ว่างระหว่างครัวเรือนทั้งหมด
       6.  ห้ามมีการรุกล้ำเพิ่มเติมโดยเด็ดขาด
       7.  วิธีการในการจัดให้อยู่อาศัยโดยมีสัญญา เช่น สัญญาเช่าจะได้หารือส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป

13. ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาประชาชน
จังหวัดชลบุรี ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอยู่ในอันดับต้น ๆ ด้วยเหตุนี้จึงได้กำหนดให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชลบุรี เป็นหน่วยงานรับเรื่องราวร้องทุกข์/ร้องเรียนจากประชาชน และ        ทำหน้าที่ในการประสานหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาจากกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมและปัญหาอื่น ๆ รวมทั้งแจ้งสรุปผลการดำเนินการให้ผู้ร้องเรียนทราบ
 ทั้งนี้  ได้กำหนดช่องทางการร้องเรียนเพื่อการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน  ดังนี้
       (1)  ร้องเรียนด้วยตนเอง ณ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชลบุรี
       (2)  โทรศัพท์หมายเลข 1567 (ไม่เสียค่าใช้จ่าย) หรือ 0-3827-8370
       (3)  ส่งทางไปรษณีย์ ตู้ ปณ.101 ปทจ.ชลบุรี
       (4)  ผ่าน www.chonburi.go.th

นอกจากนี้การแก้ไขปัญหาเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดชลบุรี กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงรุกแบบ 360๐ ไม่ต้องรอให้ผู้บริโภคที่เดือดร้อนจากการถูกเอาเปรียบ จะต้องมาร้องเรียนที่จังหวัด โดยให้ทุกอำเภอแต่งตั้งสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับอำเภอ เพื่อเร่งรัดการดำเนินการแก้ไขให้กับผู้บริโภคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบในพื้นที่โดยเร็ว
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เอง จึงทำให้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนแต่เดิม ซึ่งมีเรื่องค้างคาอยู่จำนวน 2,804 เรื่อง ถูกแก้ไขปัญหาไปแล้วถึง 2,515 เรื่อง และอยู่ในระหว่างดำเนินการ 289 เรื่อง
สำหรับผลการดำเนินงานคุ้มครองช่วยเหลือผู้บริโภคปัจจุบันได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวน 315 เรื่อง สามารถยุติเรื่องแล้วจำนวน 147 เรื่อง เรียกเงินคืนให้ผู้บริโภคแล้วทั้งสิ้น จำนวน 3,681,485 บาท อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 168 เรื่อง

14. โครงการจัดทำเส้นทางจักรยานในเขตเมืองชลบุรี
จังหวัดชลบุรี กำหนดนโยบายจัดเส้นทางจักรยานในเขตเมืองชลบุรี เพื่อลดการใช้พลังงาน ลดปัญหาการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน ปัญหาพื้นที่จอดรถไม่เพียงพอ ลดมลพิษทางอากาศ และเสียงในเขตเมืองชลบุรี นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชลบุรีให้ดีขึ้น จึงได้กำหนดรณรงค์ให้ข้าราชการ ประชาชน นิสิต และนักศึกษาในเขตเมืองชลบุรี ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในการสัญจรจากยานพาหนะประเภทรถยนต์ รถมอเตอร์ไซต์ มาขับขี่จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทางในชีวิตประจำวันแทน ซึ่งจังหวัดได้กำหนดเส้นทางในการสัญจรทางจักรยานไว้ ทั้งสิ้น 19  เส้นทางในเขตเมืองชลบุรี โดยกำหนดเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2551 เป็นต้นไป

15. จัดรายการ “คุยกับผู้ว่า”
ดำเนินการส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ไปสู่ประชาชนในทุกพื้นที่ในจังหวัด ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2550 ในรายการ “คุยกับผู้ว่า” ทุกวันพุธของสัปดาห์ เวลา 10.30 น. จนถึง 11.00 น. ทางสถานีวิทยุ สวท.ชลบุรี FM.99.75 MHz และขอความร่วมมือวิทยุชุมชนทั้งจังหวัดรับสัญญาณถ่ายทอดในวันเวลาดังกล่าวด้วย  
นอกจากนี้ในช่วงท้ายรายการ  ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีปัญหาหรือมีความเดือดร้อนได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงอีกด้วย

16. โครงการจัดระเบียบสังคม
ตามที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายในการจัดระเบียบสังคมในเรื่องสำคัญ ได้แก่ การจัดระเบียบหอพัก  การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด  อาชญากรรม เป็นต้น  ซึ่งจังหวัดชลบุรีได้มีการดำเนินการ 

       1. การจัดระเบียบ Internet Café 
จังหวัดชลบุรีได้ออกประกาศจังหวัดชลบุรี เรื่อง ข้อกำหนดในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ  ซึ่งเทปและวัสดุโทรทัศน์ ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2550 ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการควบคุมการดำเนินการสถานประกอบ ได้แก่ ร้านเกม  ร้านคาราโอเกะ ไม่ให้มีการดำเนินการลามกอนาจารและเกมที่มีความรุนแรงและมีอันตรายต่อเยาวชน กำหนดข้อห้ามของสถานที่ตั้ง เวลาเปิด–ปิดบริการ กำหนดเวลาในการเข้ามาใช้บริการของนักเรียนอายุไม่เกิน 15–18 ปี เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการมั่วสุมของเด็กและเยาวชนประพฤติปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม  และ  หรือ  อาจมีการกระทำผิด

       2. มาตรการป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินของทางราชการและประชาชน 
 ปัจจุบันได้มีการลักลอบโจรกรรมทรัพย์สินของประชาชนและของทางราชการเป็นอย่างมาก ซึ่งได้พิจารณาแล้วเห็นว่า คนร้ายที่ได้โจรกรรมทรัพย์สินมามีแหล่งจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวที่ร้านค้าของเก่า ด้วยเหตุนี้ จังหวัดชลบุรี ได้ออกประกาศจังหวัดชลบุรี เรื่องการป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินของทางราชการและประชาชน เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2549 ซึ่งได้กำหนดให้ร้านค้าของเก่าดำเนินการซื้อ-ขายสินค้าของเก่าอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันการรับซื้อสินค้าที่โจรกรรมมา โดยถือเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันการก่ออาชญากรรม และประกาศจังหวัดชลบุรี เรื่อง กำหนดมาตรการป้องกันการรับซื้อของโจรจากร้านค้าของเก่าประเภทเศษเหล็ก อลูมิเนียม ทองเหลือง ทองแดง สายไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์รถยนต์ ประตูรั้วอัลลอย และมิเตอร์น้ำประปา กรณีรับซื้อของเก่าประเภทดังกล่าว จะต้องจดชื่อ ที่อยู่และหมายเลขบัตรประชาชนของผู้นำสินค้ามาขายโดยละเอียดทุกรายการสิ่งของที่นำมาขายโดยให้เปิดทำการได้  เฉพาะช่วงเวลา 07.00-19.00 น. เท่านั้น ห้ามทำการซื้อขายในยามวิกาล  นอกจากนี้ยังได้กำหนดมาตรการเสริมเพื่อให้การป้องกันเกิดผลอย่างจริงจัง  โดย

       1)  ให้อำเภอเข้มงวดกวดขันและตรวจตราร้านค้าของเก่าพร้อมรายงานผลการดำเนินการพร้อมภาพถ่ายให้จังหวัดทราบเป็นประจำทุกเดือน หากพบการกระทำความผิดให้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ประกอบการทุกราย และให้จัดทำเป็นบัญชีรายชื่อรวบรวมไว้เพื่อประกอบการพิจารณาในการอนุญาตหรือขอต่ออายุใบอนุญาตรวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบศึกษากฎหมาย ระเบียบ และหนังสือสั่งการต่าง ๆ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการร้านค้าของเก่า
       2)  ประชาสัมพันธ์การดำเนินการป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินของทางราชการและประชาชนผ่านสื่อมวลชนในพื้นที่ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบและให้ความร่วมมือกับจังหวัด
       3)  ตรวจตราตลาดนัดต่าง ๆ ที่เป็นแหล่งซื้อ-ขายของโจร หากพบการกระทำความผิดให้ทำการจับกุมและสั่งปิดตลาดนัดดังกล่าว นอกจากนี้ยังห้ามเปิดตลาดค้าของเก่า ยกเว้นสินค้าที่มีแหล่งที่มาของสินค้า
 มาตรการต่าง ๆ ของจังหวัดจะได้รับผลอย่างจริงจังก็ต่อเมื่อทุกจังหวัดได้ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อป้องกันการนำของโจรไปซื้อ-ขายในจังหวัดใกล้เคียง จึงได้รายงานกระทรวงมหาดไทย เพื่อแจ้งให้ทุกจังหวัดได้กำหนดมาตรการให้สอดคล้องกัน


       3. มาตรการป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
จังหวัดชลบุรีได้ออกประกาศจังหวัดชลบุรี เรื่อง ขอความร่วมมือเพื่อเป็นมาตรการป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองในจังหวัดชลบุรี ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2549 เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรมในเขตพื้นที่ชุมชนและสถานที่ท่องเที่ยว เนื่องจากจังหวัดชลบุรีเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวจำนวนมาก จึงมีบุคคลที่แอบแฝงเข้ามาหาผลประโยชน์และก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมจำนวนมาก จังหวัดจึงกำหนดให้บริษัทที่ดำเนินการด้านรักษาความปลอดภัย   ต้องตรวจสอบประวัติของเจ้าหน้าที่ของสถานประกอบการกับทางราชการอย่างเคร่งครัด และขอความร่วมมือสถานบริการให้ติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิดในสถานประกอบการ โดยจังหวัดถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาต่อใบอนุญาตสถานประกอบการนั้นๆ

       4. โครงการจัดตั้งโรงทาน
เมื่อจังหวัดชลบุรีมีมาตรการจัดระเบียบร้านค้าของเก่า เพื่อปิดกั้นพวกมิจฉาชีพแล้วจะต้องเปิดช่องทางให้เขาหายใจโดยธรรมชาติคนเมื่อท้องหิวงานก็ไม่มีทำ เมื่อไม่มีอะไรกินก็ต้องมีขโมยแต่ถ้าอย่างน้อยสามารถทำให้เขาท้องอิ่มแล้วอย่างน้อยจิตสำนึกในการละอายต่อบาป จังหวัดชลบุรี มอบหมายให้อำเภอไปประสานขอความร่วมมือจากองค์กรการกุศล องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จัดตั้งโรงทานอย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง และจัดเจ้าหน้าที่ไปสำรวจข้อมูลพื้นฐานของคนมาโรงทานว่ามีคนมากินเป็นประจำกี่คน หากพบว่าเป็นเด็กเร่ร่อนก็จัดการศึกษาเล่าเรียนให้ ถ้าเป็นผู้ใหญ่ฝึกอาชีพให้มีความรู้ในการหารายได้ที่สุจริต   หรือไม่ก็มอบหมายให้ทำงานสาธารณะกุศลเพื่อให้เห็นคุณค่าของการช่วยเหลือ

       5. การจัดระเบียบหอพัก
จังหวัดชลบุรีจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานชุดปฏิบัติการร่วมในการตรวจที่พักอาศัยเชิงพาณิชย์ ออกตรวจหอพัก นักเรียน นักศึกษาของเอกชน เพื่อควบคุมให้หอพักต่างๆดำเนินการตามพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ.2507 อย่างเคร่งครัด