การดําเนินงานของศูนย์เรียนรู้
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดําริฯ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย บริเวณเขาหมาจอ ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริฯ
ที่ดําเนินการในพื้นที่จังหวัดชลบุรี
การดําเนินงานของศูนย์เรียนรู้
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
อันเนื่องมาจากพระราชดําริฯ
กิจกรรมฐานทรัพยากรท้องถิ่น
ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
กิจกรรมโรงเรียนที่เป็นสมาชิก
กิจกรรมสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
และโรงเรียนที่มีผลงานโดดเด่น
กลับหน้าหลัก กลับหน้าการดําเนินงานของศูนย์เรียนรู้
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดําริฯ

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย บริเวณเขาหมาจอ ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ

  • ประวัติความเป็นมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระราชกระแสแนะนำแนวทางการสร้างความรู้ความเข้าใจ และจิตสำนึกในเรื่องเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่เยาวชนไว้หลายครั้งหลายครา ครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 ได้มีพระราชกระแสว่า “การสอนให้เด็กมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์พืชพรรณนั้น ควรใช้วิธีการปลูกฝังให้เด็กเห็นความงดงามความสนใจ และก่อให้เกิดความรู้สึกกลัวว่าหากไม่อนุรักษ์แล้ว จะเกิดผลเสีย เกิดอันตรายแก่ตนเอง จะทำให้เด็กเกิดความเครียด ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อประเทศในระยะยาว” ในโอกาสเดียวกัน ยังได้ทรงมีพระราชกระแสเพิ่มเติมด้วยว่า “ตามเกาะต่าง ๆ มีพืชพรรณอยู่มาก แต่ยังไม่มีผู้สนใจเท่าไร จึงน่าจะมีการสำรวจพืชพรรณตามเกาะด้วย” ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 ได้พระราชทานแนวทางการปฏิบัติแก่กองทัพเรือ ในการดำเนินงานกิจกรรมสร้างจิตสำนึกของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ที่เกาะแสมสารว่า ควรพิจารณาปฏิบัติตามรูปแบบของอุทยานแห่งชาติ เกาะปอร์กอรอลส์ และเกาะโคร์ส ที่ฝรั่งเศส ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยือนมาในปี พ.ศ. 2538 และทรงมีความประทับใจในวิธีการให้ความรู้ความเข้าใจในด้านพันธุ์ไม้และระบบนิเวศต่อเยาวชน ในลักษณะที่เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตอันก่อให้เกิดความรู้สึกผูกพันกับธรรมชาติ นอกจากนี้ สมเด็จพระทำรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังได้ฝากงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลนี้ไว้ต่อกองทัพเรือด้วย โดยมีพระราชกระแสต่อผู้บัญชาการทหารเรือเมื่อ 31 พฤษภาคม 2544 ว่า “ให้กองทัพเรือทำงานนี้ เพื่อความมั่นคงของประเทศ” อันเนื่องมาจากพระราชกระแสและพระราชดำริหลายครั้งวหลายครานี้เอง กองทัพเรือจึงมุ่งหน้าดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ที่เกาะแสมสาร และในส่วนของกิจกรรมสร้างจิตสำนึกแก่เยาวชน กองทัพเรือได้พิจารณาจัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย” ขึ้นบนฝั่งสัตหีบ ตรงข้ามเกาะแสมสาร รวมทั้งจัดสร้างสวนพฤกษศาสตร์และเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนเกาะแสมสาร เพื่อเป็นสื่อในการสร้างความรู้ความเข้าใจและจิตสำนึกแก่เยาวชนตามแนวทางพระราชดำริ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย ตั้งอยู่ริมทะเลบริเวณเขาหมาจอ ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ในจุดที่อยู่ตรงข้ามเกาะแสมสาร มีอาณาบริเวณประมาณ 16 ไร่ สิ่งก่อสร้างมีลักษณะเป็นอาคารไต่ระดับเขา ถึงยอดเขาเพื่อให้มองเห็นทัศนียภาพมุมกว้างไกล และความลึกของทะเล โดยมุ่งที่จะให้ผู้ชมเห็นความงดงามของท้องทะเล แล้วเกิดจินตนาการและความปิติที่จะรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ตามแนวทางพระราชดำริ
  • เนื้อหาสาระในพิพิธภัณฑ์ฯ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย ได้มีการจัดแสดง “มหัศจรรย์ที่ค้นพบเกาะและทะเลไทย” ที่ได้รับการออกแบบโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยแยกเนื้อหาของแต่ละอาคาร ดังนี้ 1 อาคารหลังที่ 1 เทิดพระเกียรติมหาราช อาคารหลังที่ 1 หรือ “อาคารเทิดพระเกียรติมหาราช” แบ่งออกเป็น 2 ส่วน 1.1 ส่วนที่ 1 (โซน A) เป็นการนำเสนอวัตถุประสงค์ ความเป็นมาของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสืบทอดจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามพระราชปณิธาน “เดินตามรอยเท้าพ่อ” จนถึงพระราชดำริเพิ่มเติมในการเรียนรู้ทรัพยากร การใช้ประโยชน์และการสร้างจิตสำนึก โดยมุ่งเทิดพระเกียรติในลักษณะ “เจ้าฟ้านักอนุรักษ์” 1.2 ส่วนที่ 2 (โซน B) ของอาคารการจัดการแสดง มุ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างหิน ดิน และชีวิต อาทิ กระบวนการเกิดดิน อนุภาคของดินที่เอื้อประโยชน์ต่อระบบนิเวศ งานอุทกศาสตร์ทางทะเล รูปแบบชนิดของหินดินแร่ ความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลอันก่อให้เกิดสภาพภูมิศาสตร์ปัจจุบัน รวมทั้งเรื่องของฟอสซิล หรือซากดึกดำบรรพ์ที่คณะสำรวจของโครงการฯ ค้นพบบนเกาะบอน จังหวัดพังงา และร่องรอยอีกมากมายของฟอสซิลภายใต้ท้องทะเล สิ่งที่จัดแสดงเหล่านี้จะทำให้ผู้เข้าชม เข้าใจถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลง และหลักฐานที่ใช้สนับสนุนกระบวนการทางวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต และเน้นประจักษ์พยานของทฤษฎีวิวัฒนาการนี้ด้วย 2 อาคารหลังที่ 2 ปวงปราชญ์ร่วมรวมใจ อาคารหลังที่ 2 หรือ “อาคารปวงปราชญ์ร่วมรวมใจ” แบ่งออกเป็น 2 ส่วน 2.1 ส่วนที่ 1 (โซน A) มุ่งเสนอนิเวศของป่า พรรณพืช และสัตว์ มีสาระเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ สังคมพืชป่าดงดิบ ป่าผลัดใบ พืชที่พบจากเกาะต่าง ๆ และการค้นพบพันธุ์พืชที่มีอยู่เฉพาะในประเทศไทย พันธุ์ไม้ที่เป็น New record species หลายชนิด รวมทั้งความหลากหลายของสมุนไพร 2.2 ส่วนที่ 2 (โซน B) ที่อยู่ถัดไปของอาคารปวงปราชญ์ร่วมรวมใจ มุ่งเสนอในหัวข้อผู้ย่อยสลายในธรรมชาติ ได้แก่ ปลวก จุลินทรีย์ดิน เห็ดรา สัตว์หน้าดินในดิน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในห่วงโซ่อาหารและสายใยอาหาร อันเป็นกระบวนการหมุนเวียนพลังงานที่ก่อให้เกิดความสมดุลในระบบนิเวศ รวมทั้งงานวิจัยที่พบว่าเชื้อราบางชนิดสามารถสร้างสารเคมีต่อต้านเชื้อมะเร็ง และเชื้อ HIV ได้ 3 อาคารหลังที่ 3 ใฝ่เรียนรู้ผู้ฉลาด อาคารหลังที่ 3 หรือ “อาคารใฝ่รู้ผู้ฉลาด” แบ่งออกเป็น 2 ส่วน 3.1 ส่วนที่ 1 มุ่งเสนอในหัวข้อระบบนิเวศสังคมพืช พืชฝั่งทะเล โดยเน้นระบบนิเวศบนพื้นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ฯ ในหมู่เกาะแสมสาร รวมทั้งงานวิจัยหลายอย่าง เช่น เรื่องหอยทากบางชนิด และการเกิดหอยชนิดใหม่ที่มีผลจากการแยกตัวของประชากรทางสภาพภูมิศาสตร์ซึ่งมีการค้นพบหอยทางชนิดใหม่ จากการสำรวจของคณะทหารเรือและนักวิทยาศาสตร์ในโครงการฯ ถึง 3 ชนิด ได้แก่ หอยทากจิ๋วปากแตร หอยมรกต และหอยทากสยาม เป็นต้น งานวิจัยที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งที่เชื่อมโยงสู่ “มหัศจรรย์แห่งการค้นพบ” คือการพบสิ่งมีชีวิตอีกหลายชนิดที่เริ่มจะหายากในปัจจุบัน ที่คนรุ่นใหม่อาจจะไม่สามารถพบเห็นได้ง่าย เช่น ตุ๊กแกบิน กิ้งก่าบิน และตะกอง ซึ่งจัดเป็นกลุ่มกิ้งก่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในประเทศไทย รวมทั้งนกหายากอีกหลายชนิด และเรื่องราวการอพยพของนกนานาชนิด 3.2 ส่วนที่ 2 ที่อยู่ถัดไปของอาคารหลังที่ 1 นำเสนอสาระในหัวข้อประโยชน์จากระบบนิเวศป่าชายเลน โดยพาไปรู้จัก “ป่าสามน้ำ” “ป่าพระจันทร์สร้าง” รวมทั้งป่าชายเลนในฐานะ “ต้นทุนชีวิต” 4 อาคารหลังที่ 4 พิฆาตความไม่ดีที่ประจักษ์ อาคารหลังที่ 4 หรือ “อาคารพิฆาตความไม่ดีที่ประจักษ์” แบ่งออกเป็น 2 ส่วน 4.1 ส่วนที่ 1 เสนอสาระในหัวข้อ ปัญหามลภาวะที่เกิดขึ้นในท้องทะเลไทย ได้แก่ ภาวะโลกร้อน มลภาวะในประเทศไทย รวมทั้งดัชนีบ่งชี้ผลที่ปรากฏ เช่น ปริมาณปลาลดน้อยลง ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสาหร่ายบางชนิด เป็นต้น 4.2 ส่วนที่ 2 ที่อยู่ถัดไปของอาคารนี้ นำเสนอสาระในหัวข้อการปลูกจิตสำนึกฟื้นฟูธรรมชาติตามแนวพระราชดำริ ว่าควรปลูกฝังให้เด็กเห็นความงดงาม ความน่าสนใจของพืชพรรณแล้วเกิดความปิติที่จะศึกษาและอนุรักษ์พืชพรรณต่อไป รวมทั้งคำถามที่จะถามว่าเกิดอะไรขึ้น หากความหลากหลายของชีวภาพลดลง และมีความจำเป็นอย่างไรที่ควรจะอนุรักษ์ความหลากหลายของชีวภาพเหล่านี้ 5 อาคารหลังที่ 5 พิทักษ์ศักยภาพทะเลไทย อาคารหลังที่ 5 หรือ “อาคารพิทักษ์ศักยภาพทะเลไทย” ซึ่งเป็นอาคารบนยอดเนินเขาหมาจอ หันออกสู่ทะเลในมุมกว้าง มองเห็นเกาะแสมสารที่ตั้งตระหง่านรวมอยู่กับหมู่เกาะข้างเคียงในทะเลกว้างตัดกับท้องฟ้าสีคราม อาคารหลังนี้ กำหนดไว้เป็นที่จัดแสดงงานของกองทัพเรือในการพิทักษ์รักษาอธิปไตยของชาติทางทะเล การสนับสนุนการพัฒนาประเทศ การช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งการเข้าร่วมในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ โดยตระหนักว่างานนี้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจการรักษาความมั่นคงของชาติทางทะเล พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย มิได้มีเพียงอาคารไต่เข้าถึงยอดเนิน 5 หลัง ที่จัดแสดง “มหัศจรรย์การค้นพบ” และงานในลักษณะที่ “สรรพสิ่งล้วนเกี่ยวพัน” เท่านั้น ในพื้นที่ยังมีการจัดแสดง “มหัศจรรย์การค้นพบ” เช่น พืชพรรณ ฟอสซิล หิน ดิน แร่ ไว้บนเส้นทางธรรมชาติระหว่างทางนอกอาคารในลักษณะพิพิธภัณฑ์มีชีวิต เพื่อให้ผู้ชมโดยเฉพาะเยาวชนได้เรียนรู้อย่างใกล้ชิด สามารถสัมผัสและศึกษาความเกี่ยวพันกับสรรพสิ่ง ยิ่งกว่านั้นผู้เข้าชมที่สนใจในการศึกษาและค้นหาธรรมชาติด้วยตนเอง ยังสามารถที่จะเดินทางข้ามทะเลไปยังเกาะแสมสารที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเพื่อเดินสู่เส้นทางศึกษาธรรมชาติ สัมผัสธรรมชาติ ด้วยตนเองตั้งแต่ทะเลถึงยอดเขา และยอดเขาถึงใต้ทะเล ซึ่งเป็นการเดินศึกษาธรรมชาติตามรอยพระบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ที่ได้เสด็จฯ มาด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2545
  • ผู้สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯ สามารถศึกษาข้อมูลและติดต่อได้ที่ สำนักงานพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย เขาหมาจอ โทร. 038 432 471 และ 038 432 475
    เว็บไซต์ www.tis-museum.org อีเมล์ tis-museum@hotmail.com